วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

มารู้จัก Heat Wave กันเถอะ...(ตอนที่ 1)

คงมีเพื่อนๆ หลายคนที่เป็นแฟนเทนนิสรู้เรื่องที่การแข่งขันเทนนิสรายการแกรนด์สแลม "ออสเตรเลี่ยนโอเพ่น" ต้องยกเลิกและหยุดการแข่งขันชั่วคราวไปหลายคู่ เนื่องจากนักกีฬาไม่สามารถทนสภาพอากาศร้อนจัดไหว โดยจากรายงานข่าวของ BBC พบว่าสนามแข่งขันที่เมลเบิร์นมีอุณหภูมิสูงสุดรายวันในระดับสูงกว่า 40C ติดต่อกันเป็นวันที่สาม โดยทางออสเตรเลียได้แจ้งว่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฎการณ์คลื่นความร้อน (Heat Wave)   




นอกจากเมลเบิร์น เมืองอื่นๆ ทั่วออสเตรเลียก็ประสปปัญหาจากคลื่นความร้อนเช่นกัน อาทิ เมืองแอดิเลท เมืองหลวงของออสเตรเลียตอนใต้ที่มีค่าอุณหภิมสูงสุดรายวันที่ 45.1C ส่งผลให้บ้านมากกว่า 14,000 หลังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งสาเหตุคาดว่าเกิดจากพายุและฟ้าผ่า ในแทสมาเนีย  ที่มีรายงานแจ้งว่าถนนลาดยางละลายอันเกิดจากความร้อน หรือจากภาพล่างเป็นไฟป่าที่ทำลายบ้านเรือนประชาชนมากกว่า 50 หลังคาเรือนในออสเตรเลียตะวันตก



คำถามที่เกิดขึ้นกับหลายๆคน ก็คือ คลื่นความร้อน หรือ  Heat Wave คืออะไร? อะไรเป็นสาเหตุของการเกิดคลื่นความร้อน? และเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรในเมื่อพบกับปรากฎการณ์นี้? ในวันนี้ผมจะพูดถึงเรื่องแรกก่อน ส่วนเรื่องถัดไปจะค่อยๆ ทยอยเขียนออกมาครับ

อะไรคือ คลื่นความร้อน หรือ  Heat Wave? 

คลื่นความร้อน  คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่สภาวะอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ มักเกิดในฤดูร้อน ใกล้เคียงกับวันที่มีอุณหภูมิอากาศสูงสุดในรอบปี ซึ่งอาจมีความชื้นสูงร่วมด้วย มักเกิดในบริเวณที่มีการพัดผ่านของลมร้อนจากบริเวณทะเลทราย เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ เกาะอังกฤษ และทวีปยุโรปบริเวณเขตเมดิเตอรเรเนียน การเกิดคลื่นความร้อนจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ โดยอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนถึง 30 องศาเซียลเซียส หรือมากกว่า ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมต่อสภาพร่างกายของผู้คุ้นเคยต่อสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น การเกิดคลื่นความร้อนนี้อาจจะกินระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หรือคงอยู่นานหลายอาทิตย์
คลื่นความร้อนนอกจากเป็นภัยธรรมชาติที่คร่าชีวิตประชากรเป็นจำนวนมาก ยังส่งผลต่อการเพาะปลูกพืชของชาวยุโรป เช่น ธัญพืช และไวน์ ก่อให้เกิดไฟป่า และน้ำท่วมอย่างฉับพลันเนื่องจากการละลายตัวของธารน้ำแข็ง (พ.ศ. 2546 ประเทศสวิสเซอร์แลนด์) อีกทั้งยังก่อให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้นจนอาจนำไปสู่การขาดแคลนพลังงานได้

องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ให้คำนิยามของคลื่นความร้อน (Heat Wave) ว่าเป็นการที่อุณหภูมิสูงสุดรายวัน 5 วันติดต่อกัน มีค่าเกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 30 ปี 5C  ในแต่ละประเทศก็มีการกำหนดอุณหภูมิสูงสุดรายวันเฉลี่ย 30 ปี และจำนวนวันที่มีค่าอุณหภูมิสูงสุดรายวันติดต่อกันไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก คิดที่ช่วงเวลา 5 วันติดต่อกันที่มีอุณหภูมิสูงสุดรายวันเกิน 25C ในขณะที่ประเทศเดนมาร์ก คิดที่ช่วงเวลา 3 วันติดต่อกันที่มีอุณหภูมิสูงสุดรายวันเกิน 50% ของพื้นที่เกิน 28C ส่วนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา คิดที่ช่วงเวลา 3 วันติดต่อกันที่มีอุณหภูมิสูงสุดรายวันเกิน  32.2C และแคลิฟอร์เนีย  คิดที่ช่วงเวลา 3 วันติดต่อกันที่มีอุณหภูมิสูงสุดรายวันเกิน  37.8C 


 จากข้อมูลของศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า คลื่นความร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่มีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะความชื้นจากทะเลมักจะพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยในขณะที่อากาศร้อน จากสภาพอากาศที่ร้อนและมีความชื้นสูงจะทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยและพาความร้อนออกจากร่างการทำให้รู้สึกร้อนอบอ้าว ส่งผลให้ระบบเมตาบอลิซึมร่างการล้มเหลวถึงเสียชีวิตได้

เอาละครับ เราก็ได้รู้แล้วว่าคลื่นความร้อนคืออะไร คราวหน้าผมจะได้พูดถึงสาเหตุของการเกิดคลื่นความร้อนและก็จะมาดูว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเหตุการณ์ปกติหรือเกิดจาก Climate Change อย่างที่หลายๆ คนเขาว่ากันครับ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น